การให้เลือด |
|
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วรวรรณ ตันไพจิตร |
|
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล |
|
ผู้ป่วยธาลัสซีเมียมีอาการซีดเรื้อรัง ถ้าซีดมากจะมีผลแทรกซ้อนจากภาวะซีด คือ อ่อนเพลีย ตัวเล็กแกร็นเจริญเติบโตไม่สมอายุ กระดูก ใบหน้าเปลี่ยน กระดูกเปราะหักง่าย ม้ามโตและตับโต ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักรักษาโรคนี้ได้โดยการ ให้เลือดแบบประคับประคอง เมื่อซีดมาก (LOW TRANS-FUSION) การให้เลือดอีกแบบหนึ่งคือการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอและจนหายซีด (HIGH TRANS-FUSION) หมายถึงการให้เลือดจนระดับเลือดที่ใกล้ เคียงคนปรกติ ข้อบ่งชี้ ให้ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงซีดมาก ระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า 7 กรัม/เดซิลิตร, ฮีมาโตคริตต่ำกว่า 21% หรือในผู้ป่วยที่น้ำหนักไม่เพิ่ม แกร็นมากจากภาวะซีด วิธีการ ให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น 12 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/ครั้ง (ขอเลือดเพิ่ม 20 มิลลิลิตร เผื่อค้างในสายหรือ 50 มิลลิลิตร สำหรับสายของเซ็ทกรองเม็ดเลือดขาว) การให้เลือดระยะแรกอาจต้องให้ถี่สัปดาห์ละครั้งไป 2-3 สัปดาห์ จนระดับเลือดสูงตามที่ต้องการ (ฮีมาโตคริตเฉลี่ย 34-36% : ฮีโมโกลบิน 10 กรัม/เดซิลิตร) หลังจากนั้นให้ทุก 3 สัปดาห์ เพื่อรักษาระดับให้ปรกติคือ ระดับฮีโมโกลบินสูงกว่า 10 กรัม/เดซิลิตรไว้ตลอดไป ผลดี ผู้ป่วยจะหายซีด ไม่เพลีย ถ้าเริ่มให้ภายในอายุ 2 ปี ในเด็กเล็ก ม้ามจะไม่โต หน้าจะไม่เปลี่ยน การเจริญเติบโตจะปรกติ ในเด็กเล็กที่มีม้ามโตไม่มาก ม้ามจะยุบลงจนคลำไม่ได้ ถ้าเริ่มให้เลือดช้าในเด็กโต ผลจะไม่ดีเท่ากับที่เริ่มให้ในเด็กเล็ก ข้อด้อย ต้องมาให้เลือดสม่ำเสมอตามแพทย์นัด อาจมีภาวะแทรกซ้อนของการให้เลือด เช่น ความดันเลือดสูง (ป้องกันอยู่แล้ว โดยการให้ยาขับปัสสาวะกินก่อนให้เลือด, เฝ้าระวังโดยตรวจวัดความดันเลือดก่อนและหลัง การให้เลือด) การติดเชื้อจากเลือด (ธนาคารเลือดตรวจอย่างดีแล้ว) ถ้าให้เลือดแบบนี้ไปประมาณ 1 ปี จะเริ่มมีธาตุเหล็กเกินจากเลือดที่ให้ ต้องเริ่มให้ยาขับธาตุเหล็ก (อ่านรายละเอียดเรื่องยาขับธาตุเหล็ก) ทำไมผู้ป่วยบางรายจึงไม่ได้ผลดีจากการให้เลือดวิธีนี้ เพราะ:- 1.ไม่มาตามนัด ทำให้ระดับเลือดลดลง ม้ามจะเริ่มโตขึ้น ถ้าผิดนัดบ่อยๆ ม้ามโตมากขึ้น ทำให้ซีดลง กระดูกจะเริ่มเปลี่ยนแปลง แก้ไขโดยมาตามนัดเสมอ 2. เลือดที่ให้จำนวนไม่พอตามที่แพทย์กำหนด ทำให้ไม่สามารถเพิ่มระดับเลือดตามที่ต้องการ แก้ไขโดยช่วยกันตรวจจำนวนเลือดที่ได้รับ ขอเพิ่มจำนวนให้ได้ตามกำหนดในคราวต่อไป และนัดครั้งต่อไปเร็วกว่าปรกติ 3. ถ้าผู้ป่วยมีไข้ไม่สบายระดับเลือดจะลดลง ทำให้ซีดลงเร็วกว่าปรกติ แก้ไขโดยมาพบแพทย์ เพื่อให้เลือดก่อนกำหนด หรือนัดให้เลือดคราวต่อไปเร็วขึ้น 4. ม้ามโต ม้ามจะจับทำลายเม็ดเลือดแดงทำให้ต้องให้เลือดมากและถี่กว่าที่ควร ต้องปรึกษาแพทย์พิจารณาปรับปรุงการรักษาในแต่ละราย ข้อแนะนำอื่นๆ 1. พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ติดตามผลการ รักษาและรับคำแนะนำอย่างน้อยทุก 3 เดือน หรือเมื่อมีปัญหา, ข้อสงสัย 2. ตรวจความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโตคริต) หลังให้เลือด 1-2 วันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าระดับเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ (เช่นก่อนให้เลือดตรวจได้ ฮีมาโตคริต 30% ให้เลือดแล้วเป็น 38% แสดงว่ารักษาระดับฮีมาโตคริตได้ราว 34% = น่าพอใจ) 3. จดบันทึกวันให้เลือดลงในปฏิทินการให้เลือดและบันทึกข้อมูลต่างๆในตารางการให้เลือด จะทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยได้ ควรนำมาให้แพทย์ช่วยดูแลให้คำแนะนำ และมอบปฏิทินแก่แพทย์เมื่อสิ้นปีและรับปฏิทินปีต่อไป 4. ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (ที่ไม่ได้ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเลือดสายสะดือ) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนป้องกันตับอักเสบควรทำให้ครบก่อนเริ่มให้เลือด 5. การให้เลือดจนหายซีด จะทำให้สบายขึ้น แต่จะมีผลดีอยู่ชั่วคราวถ้าไม่ได้รับยาขับธาตุเหล็ก จะมีธาตุเหล็กเกิน กลับจะเป็นพิษต่ออวัยวะต่างๆได้ จึงต้องใช้ยาขับธาตุเหล็กออก การรักษาโรคธาลัสซีเมีย ต้องมีความร่วมมือที่ดี และความพร้อมทั้งฝ่ายผู้ป่วยผู้ปกครอง และผู้ให้การดูแลรักษา ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ และมีการวางแผนการรักษาในระยะยาว เพื่อเป็นประโยชน์ที่สุด หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ของท่าน |
|
กำลังปรับปรุง |
|