ภาวะแทรกซ้อนจากการรับเลือด – เชื้อตับอักเสบบี ซี และเชื้อเอดส์ (HBV, HCV, HIV)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา

พ่อแม่หรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่รับเลือดบ่อยๆ มักจะถามหมอว่า จะมีโอกาสติดเชื้อตับอักเสบ หรือเชื้ออื่นๆมากน้อยเพียงใด เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง และจะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อจากการรับเลือด

เป็นที่ทราบกันดีว่า การรับเลือดจะมีโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนมาในเลือดได้ อาทิเช่น เชื้อตับอักเสบเอ-อี (HAV, HBV, HCV, HDV, HEV) เชื้อ CMV (Cytomegalovirus), EBV (Epstein-Barr Virus) เมื่อนำมาให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้รับเลือด อาจจะเกิดอาการแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง แต่โอกาสจะเกิดโรคเหล่านี้มีน้อยมาก เพราะได้มีการคัดกรองเลือดจากผู้บริจาค และมีการทดสอบเลือดบริจาคอย่างดีที่สุด
เชื้อตับอักเสบที่เป็นปัญหาและพบบ่อยมากในผู้รับเลือด ได้แก่ เชื้อตับอักเสบบี และซี เมื่อผู้รับเลือดติดเชื้อเหล่านี้ จะมีอาการของโรคตับรุนแรงมากน้อยต่างกัน

การติดเชื้อตับอักเสบบีและซีจากการรับเลือด

อาการ หลังรับเชื้อแล้วจะเข้าสู่ระยะฟักตัว (Incubation Period)นาน 1-6 เดือนสำหรับเชื้อตับอักเสบบี และ 1-5 เดือน สำหรับเชื้อตับอักเสบซี จึงจะตรวจเลือดพบการเปลี่ยนแปลงในตับ ถ้าผู้รับเลือดมีอาการเหลืองเกิดขึ้นภายใน 6 เดือน อาจจะเกิดจากการติดเชื้อจากการรับเลือด ควรรีบพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบทันที บางรายจะไม่มีอาการแสดงชัดเจน แต่บางรายจะมีอาการตัวเหลือง (ดีซ่าน) คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง เหนื่อยง่าย ปัสสาวะสีเข้ม ตรวจหน้าที่ของตับจะพบว่ามี liver enzymes สูงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ อาการมักจะหายไปได้เองระยะหนึ่ง ผู้ติดเชื้ออาจจะเป็นพาหะของโรคต่อไป
ผู้ติดเชื้อหรือผู้เป็นพาหะของตับอักเสบบีเรื้อรัง เมื่อตรวจเลือดจะพบว่ามี HBsAg บวก ต่อมาพบว่าเพียง 5% จะเป็นพาหะเรื้อรัง อีก 95% จะสร้างความต้านทานได้ จะมีจำนวนน้อยที่แสดงอาการของโรคตับแข็ง และหรือเป็นมะเร็งของตับ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อตับอักเสบซีมาก

ตับอักเสบซี ในระยะแรกจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าตับอักเสบบี และจะไม่ทำให้เสียชีวิตในระยะแรก ปัญหาสำคัญของการติดเชื้อตับอักเสบซี มักจะเกิดขึ้นในระยะหลายปีต่อมาหลังรับเชื้อแล้ว คือ จะมีอาการตับอักเสบเรื้อรังได้ ร้อยละ 75-85 ของผู้รับเชื้อ ซึ่งต่อมาจะมีอาการตับแข็ง ตับล้มเหลว หรือเป็นมะเร็งของตับ

เราจะป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบเอและบีอย่างไร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับเลือดบ่อยๆ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีว่าตั้งแต่ พ.ศ.2533 รัฐบาลได้กำหนดให้เด็กแรกเกิดทุกรายต้องฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีโดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้ ฉีดเมื่อแรกเกิด อายุ 2 และ 4 เดือน ต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง เด็กจะสร้างภูมิต้านทานต่อโรค ทำให้มีโอกาสติดเชื้อตับอักเสบบีน้อยลงมาก จะเห็นว่าเด็กที่เกิดหลัง พ.ศ. 2533 จะมีโอกาสติดเชื้อตับอักเสบบีน้อย

ปีพ.ศ. 2548 องค์การสหประชาชาติ ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศใน “วันฮีโมฟีเลียโลก” คือวันที่ 9 เมษายน 2548 “ขอให้ทั่วโลกทำการเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนตับอักเสบเอและบีให้กับผู้ป่วยฮีโมฟีเลียทุกราย” สำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียซึ่งต้องรับเลือดบ่อยเช่นเดียวกับผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ควรจะปฏิบัติตามนี้ด้วยคือ รายที่ยังไม่เคยรับวัคซีนตับอักเสบเอและบี ควรตรวจเลือดว่ามีภูมิต้านทานตับอักเสบเอและบีหรือไม่ ถ้าไม่มีภูมิต้านทานขอให้ไปรับการฉีดวัคซีนตับอักเสบเอและบีทุกคน
รายที่ไม่เคยรับวัคซีนตับอักเสบเอและบีมาก่อน เมื่อรู้ว่าตนเองรับเชื้อตับอักเสบเอและบีในระยะแรก ปัจจุบันนี้มียาป้องกัน โดยการฉีดยา hepatitis A หรือ B immuno globulin ให้กับผู้ติดเชื้อทันที จะป้องกันให้เกิดโรคน้องลง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ติดเชื้อตับอักเสบซี ปัจจุบันหลายประเทศให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกราย โดยใช้ยา Interferon alfa ร่วมกับยา Ribavirin anti viral agent ซึ่งยังมีราคาสูงมาก

การติดเชื้อ HIV จากการรับเลือด จะมีโอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร

โรคเอดส์พบครั้งแรกในโลกเมื่อพ.ศ.2524 อีก3ปีต่อมาจึงพบสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อไวรัส HIV type 1 (HIV-1) และ HIV type 2 (HIV-2) ในปีพ.ศ.2525 ได้มีรายงานแรกในผู้ป่วยเด็กโรคฮีโมฟีเลียติดเชื้อเอดส์โดยการรับส่วนประกอบโลหิตจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อเอดส์ จึงมีการตื่นตัวว่าการรับเลือดมีโอกาสติดเชื้อเอดส์ได้ ทำให้มีการหาแนวทางป้องกันจากการรับเลือดอย่างจริงจัง และมีการพัฒนาแนวทางและวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ผู้ป่วยจะเกิดอาการเมื่อไหร่หลังจากได้รับเชื้อ และมีอาการอย่างไรบ้าง

อาการหลังจากได้รับเชื้อ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
1. ระยะแรก หลังจากรับเชื้อแล้ว ภายใน 10-21 วัน ร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ผื่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ (อาจจะมีหรือไม่มีอาการปวดหัว) ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาเมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานแล้ว อาการเหล่านี้จะหายไประยะหนึ่ง ขณะเดียวกันไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ทางเลือด และสารคัดหลั่งทางอวัยวะเพศ
2. ระยะที่สอง ระยะที่ไม่มีอาการชัดเจน (Asymptomatic infection) ผู้ป่วยมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่มีอาการได้นาน 10-12 ปี ระยะนี้เชื้อ HIV จะทำลาย T-helper Cell (เป็นเซลล์ที่สร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย) ทำให้ไม่มีความต้านทานต่อเชื้อต่างๆ
3. ระยะที่สาม จะเกิดอาการของโรคเอดส์ชัดเจน เกิดจากร่างกายไม่มีภูมิต้านทาน มีไข้เรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะในปอด มักจะติดเชื้อรา วัณโรค มีอาการท้องเดิน น้ำหนักตัวน้อย มีอาการทางสมอง ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้ยารักษาหลายตัวร่วมกัน

สาเหตุการติดเชื้อเอดส์ (HIV) เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าติดต่อได้ 4 ทางคือ
1. การร่วมเพศ พบมากที่สุด
2. จากมารดาสู่ทารก ซึ่งปัจจุบันนี้มีการให้ยาแก่มารดาที่มีเชื้อเอดส์ ระหว่างตั้งครรภ์ พบว่าอัตราการติดเชื้อมายังบุตรลดลงมาก หรือในมารดาที่ให้นมบุตรก็อาจจะติดไปยังบุตรได้
3. การรับเลือด พบน้อยลงมาก จะเกิดเฉพาะกรณีที่ผู้บริจาคเพิ่งรับเชื้อไม่นาน ร่างกายยังไม่สร้างภูมิต้านทาน และเชื้อมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถตรวจเลือดพอที่จะคัดกรองออกได้
4. การใช้เข็มร่วมกันในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด เชื้อจะติดจากเลือดที่อยู่ในเข็ม จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง

แนวทางการป้องกันการติดเชื้อ HBV HCV และ HIV จากการรับเลือด
สำหรับประเทศไทยได้มีมาตรการการป้องกันด้านผู้บริจาคเลือด และมีการตรวจคัดกรองเลือดบริจาคทุกยูนิตอย่างดีเทียบเท่ามาตรฐานสากลในประเทศที่เจริญแล้ว ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการรับเลือดน้อยมาก การตรวจมีขั้นตอนดังนี้

1. การป้องกันทางด้านผู้บริจาคเลือด
1.1. เริ่มจากการให้ความรู้แก่ผู้บริจาค ไม่ให้มาบริจาคเลือดถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยง หรือเคยมีประวัติเป็นโรคที่มีโอกาสแพร่เชื้อทางเลือด
1.2. Donor self selection ผู้บริจาคเลือดจะตอบคำถามในแบบสอบถามก่อนบริจาค ถ้ารู้ว่าตนเป็นกลุ่มเสี่ยง จะงดบริจาคโลหิต

2. การตรวจคัดกรองเชื้อต่างๆในเลือดบริจาค เป็นกฎระเบียบที่ปฏิบัติกันอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ เมื่อได้รับเลือดบริจาคแล้ว ศูนย์บริการโลหิตฯและหรือธนาคารเลือดทุกแห่ง จะตรวจเลือดบริจาคทุกยูนิตสำหรับเชื้อ 4 ชนิดคือ

- เชื้อซิฟิลิส โดยการตรวจ VDRL หรือการทดสอบอย่างอื่น อัตราที่พบในผู้บริจาคเลือด ร้อยละ 0.60 – 1.08
- เชื้อตับอักเสบบี โดยการตรวจ HBs Ag อัตราที่พบในผู้บริจาคเลือด ร้อยละ 1.48 – 4.8
- เชื้อเอดส์ โดยการตรวจ Anti HIV อัตราที่พบในผู้บริจาคเลือด ร้อยละ 0.15 – 0.40
- เชื้อเอดส์ โดยการตรวจ Anti HIV ควบคู่กับ HIV Ag อัตราที่พบในผู้บริจาคเลือด ร้อยละ 0.00 – 0.01
- เชื้อตับอักเสบซี โดยการตรวจ Anti HCV อัตราที่พบในผู้บริจาคเลือด ร้อยละ 0.24 – 1.13

การตรวจเลือดแล้วจะปลอดภัยเพียงใด การตรวจ HBV HCV และ HIV จะตรวจไม่พบในระยะแรกที่รับเชื้อ ยังมีเชื้อจำนวนน้อยในร่างกาย จะแบ่งตัวจนมากขึ้นถึงระดับหนึ่งจึงตรวจพบ โดยวิธี HIV Antigen และหรือ NAT Test ก่อน ซึ่งร่างกายยังไม่สร้างภูมิต้านทานที่จะตรวจพบได้ การตรวจภูมิต้านทานจะให้ผลบวกได้ภายหลัง ซึ่งระยะเวลาในการทดสอบที่จะสามารถตรวจพบ ให้ผลบวกได้มีระยะเวลาต่างกันดังนี้

1) ตรวจเชื้อเอดส์ Anti HIV - 22 วัน HIV Ag - 16 วัน NAT - 11 วัน
2) ตรวจเชื้อตับอักเสบบี ไม่มีการทดสอบ HBs Ag - 42 วัน NAT - 19 วัน
3) ตรวจเชื้อตับอักเสบซี Anti HCV - 70 วัน ไม่มีการทดสอบ NAT - 12 วัน

จากข้อมูลข้างบนนี้จะเห็นว่า แม้จะมีการตรวจอย่างดีที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถจะป้องกันการติดเชื้อ HBV HCV และ HIV แต่โอกาสติดเชื้อมีน้อยมาก การป้องกันโดย donor self selection และการให้ความรู้แก่ผู้บริจาคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
การทดสอบดังกล่าวข้างต้น ต้องพยายามทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำสูง เพราะการทดสอบโดยวิธีต่างๆ และน้ำยาชนิดต่างๆ จะให้ความแม่นยำมากน้อยต่างกัน

3. แพทย์จะพยายามให้เลือดในรายที่จำเป็นเท่านั้น และเลือกชนิดของโลหิตที่เหมาะสม เช่น การให้เลือดชนิดที่แยกเม็ดเลือดขาวออก (leucocyte depleted pack red cell) จะช่วยลดการติดเชื้อลงบ้าง ในระยะที่เชื้ออยู่ในเม็ดเลือดขาว และเชื้อบางชนิด เช่น CMV จะมีโอกาสติดน้อยลง

4. ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้ต้องรับเลือดมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากขึ้น โดยการทำฟันเป็นประจำ อย่าให้มีภาวะติดเชื้อเรื้อรังในร่างกาย เช่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีกลุ่มคนหนาแน่น จะติดเชื้อหวัดได้ง่าย ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง สะอาด ป้องกันและรักษาอาการหูน้ำหนวก ฟันผุ เป็นฝีหนองตามตัว ระวังการเป็นโรคท้องเดินจากการกินอาหารไม่สะอาด

โดยสรุป การรับเลือดมีโอกาสติดเชื้อตับอักเสบบี ซี และเชื้อเอดส์ได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก ผู้ป่วยและบิดามารดาไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ เพราะผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้พยายามหาทางป้องกันอย่างดีที่สุด โอกาสติดเชื้อจึงน้อยลงเป็นลำดับ