การตัดม้าม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วรวรรณ ตันไพจิตร
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล


ม้ามคืออะไร
ม้ามเป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องด้าน ซ้ายส่วนบน ปรกติจะมีชายโครงบังอยู่คลำไม่ได้ ภายในม้ามมีช่องทางที่ซับซ้อนคดเคี้ยวซึ่งเลือดต้องไหลเวียนผ่านเข้าไป
หน้าที่ของม้าม
แม้ว่าม้ามจะมีขนาดเล็ก แต่มีหน้าที่ สำคัญเพราะเป็นที่ดักจับกำจัดเชื้อโรค เป็นที่กำจัดเม็ดเลือดแดงเก่าๆ ที่กำลังจะตายตามอายุขัย และทำลายเม็ดเลือดที่มีรูปร่างผิดปรกติ เช่น เม็ดเลือดแดงป่องกลม (ในโรคเม็ด เลือดแดงป่องกลมพันธุกรรม) เม็ดเลือดแดงรูปร่างแปลกๆ ที่พบในโรคธาลัสซีเมียเป็นต้น ทำให้เม็ดเลือดเหล่านี้แตกเร็วกว่าเม็ดเลือดแดงปรกติมาก
ทำไมผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจึงมีม้ามโต
ในระยะแรกม้ามโตขึ้นเพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง (เพราะม้ามเคยทำ หน้าที่นี้มาก่อนตั้งแต่ระยะที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ หลังคลอดไขกระดูกทำหน้าที่นี้แทน) แต่เมื่อม้ามโต มากกว่า 6 ซม. ม้ามจะกักกันเลือดไว้ได้มาก จนทำให้มีการทำลายเม็ดเลือดมากขึ้นในม้าม ม้ามยิ่งโตมากก็จะยิ่งทำลายเม็ดเลือดมากขึ้นๆ ผู้ป่วยบางคนม้ามโต คลำได้ถึงสะดือหรือต่ำกว่าสะดือ ผู้ป่วยจึงยิ่งซีดลงมาก จนต้องให้เลือด ถี่มากขึ้นๆ
เมื่อไรจึงควรตัดม้าม
- เมื่อมีม้ามโตมากจนอึดอัด
- ต้องให้เลือดถี่กว่าเดิมมาก เช่น ทุก 2-3 สัปดาห์ ก็ยังไม่หายซีด
- ต้องมีอายุมากกว่า 4-5 ปี เพราะถ้าตัดม้ามในเด็กเล็กจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเด็กโต
ผลดีของการตัดม้าม
- หายอึดอัด รู้สึกสบายขึ้น
- อาการซีดมักจะดีขึ้น การให้เลือดลดลง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในโรคฮีโมโกลบินเอ็ช มักไม่ต้องให้เลือดอีกเลย ใน เบต้าธาลัสซีเมีย ก็จะดีขึ้น การให้เลือดลดลงได้
ผลไม่ดีของการตัดม้าม
-จะติดเชื้อโรคบางชนิดได้ง่าย และรุนแรงมากกว่าก่อนตัดม้าม
-อาจมีธาตุเหล็กสะสมมากขึ้น เพราะมีการดูดซึมธาตุเหล็กจากลำไส้เพิ่มขึ้น
-บางรายมีเกร็ดเลือดสูงมากหลังตัดม้ามในระยะแรก
การปฏิบัติตัวหลังตัดม้าม
-การปฏิบัติทั่วไป : ต้องมีสุขอนามัยที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาด
-เกี่ยวกับภาวะเหล็กเกิน ควรตรวจสอบระดับธาตุ เหล็กดูซีรัมเฟอไรตินทุกปี ขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการให้ยาขับธาตุเหล็ก
-เกี่ยวกับภาวะเกร็ดเลือดสูง ในเด็กมักเป็นชั่วคราวในระยะแรกๆ ภายหลังการตัดม้าม อาจจะทำให้เส้นเลือดถูกอุดตันได้ แพทย์จะให้ยาแอสไพรินในขนาดต่ำชั่วคราว ต้องติดตามตรวจนับเกร็ดเลือดทุกเดือน แพทย์จะหยุดให้ยา แอสไพรินเมื่อจำนวนเกร็ดเลือดลดลง
-เกี่ยวกับการติดเชื้อ
:กินยาเพนนิซิลลินวี (Pen V) 1 เม็ด เช้า เย็นตามที่แพทย์สั่งอย่างน้อย 2 ปี หรือจนพ้นวัยเด็กเพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อบางชนิด ที่พบบ่อยภายหลังการตัดม้าม (หากแพ้ยาเพนนิซิลลิน ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ)
:อาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งป้องกันด้วยยา Pen V ไม่ได้ มีอันตรายที่สุด ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย อาจมีท้องเสียด้วย อาการทรุดลงรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงอาจช็อคและเสียชีวิต จึงต้องคิดถึงภาวะนี้และไปโรงพยาบาล โดยรีบด่วนก่อนที่จะมีอาการช็อค เชื้อที่พบมักเป็นเชื้อกรัมลบ เช่น ฮีโมฟีลุส ซัลโมเนลลา อีโคไล หรือเชื้อกรัมบวก เช่น สเตร็ปโตคอคคัส แพทย์จะต้องให้การรักษาโดยรีบด่วน โดยให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อทั้งสองชนิดดัง กล่าว โดยให้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ให้น้ำเกลือและติดตามอาการโดยใกล้ชิดเนื่องจากการตัดม้ามจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางอย่าง ผู้ป่วยจึงควรได้รับวัคซีนพิเศษนอกเหนือจากเด็กปรกติ ซึ่งควรเริ่มให้ตั้งแต่ก่อนตัดม้าม 2-3 สัปดาห์ ได้แก่ วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส (ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น) ควรให้ในเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี และควรให้ซ้ำอีก 1 ครั้ง 5 ปีต่อมา
มีปัญหาข้องใจ มีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ของท่าน